ย้ำ กินไข่วันละฟองควบคู่ผักผลไม้ กินดีร่างกายฟิต

  • 12 พฤศจิกายน 2561
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำกินไข่วันละฟอง ควบคู่อาหารครบ 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้สด แนะกินตามวัย ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและความแข็งแรงแก่ร่างกาย
          แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมาธิการไข่ไก่ระหว่างประเทศ (The International Egg Commission หรือ IEC) ได้กำหนดให้วันศุกร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันไข่โลก ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 12 ตุลาคม 2561 เพื่อเป็นการรณรงค์และส่งเสริมการบริโภคไข่ ซึ่งไข่เป็นอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพดี ราคาถูก หาได้ง่าย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับทุกกลุ่มวัย มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน เป็นแหล่งของแร่ธาตุที่สำคัญมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง และเป็นแหล่งของวิตามินที่สำคัญ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 โฟเลต วิตามินดี วิตามินอี เลซิธิน ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งการบริโภคไข่อย่างฉลาด จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
          แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า ปริมาณไข่ที่แนะนำให้บริโภคนั้น เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ให้เริ่มที่ไข่แดงต้มสุกบด วันละครึ่ง ถึง 1 ฟอง เด็กอายุ 7 เดือนขึ้นไป กินไข่ต้มสุกวันละครึ่งถึง 1 ฟอง และเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปถึงวัยสูงอายุกินไข่ต้มสุกได้วันละฟอง ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง กินไข่ได้ 3 ฟอง ต่อสัปดาห์หรือบริโภคเฉพาะไข่ขาวได้ทุกวัน ตามคำแนะนำของแพทย์ ที่สำคัญต้องดูแลการบริโภคอาหารอย่างอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง และกินอาหารที่หลากหลายในแต่ละมื้อ โดยให้มีอาหารประเภทข้าว – แป้ง ธัญพืช เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ครบทั้ง 5 หมู่ในสัดส่วนปริมาณที่เหมาะสม เพื่อคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะผักและผลไม้สดจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไขมันส่วนเกินให้เป็นปกติ และหากพ่อแม่ต้องการให้เด็กได้กินไข่ทุกวันและไม่เบื่อนั้น ควรใช้วิธีการประกอบอาหารที่มีการใส่ผักลงไปในไข่เพื่อเป็นการจูงใจให้เด็กกินผัก เช่น ไข่เจียวหรือไข่ตุ๋นใส่ผักสับละเอียด เป็นการเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายแก่เด็กอีกด้วย
          “ทั้งนี้ ควรเลี่ยงกินไข่ดิบ เพราะถ้าไข่ไม่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์จะขัดขวางการดูดซึมไบโอติน ทำให้ย่อยยากจึงได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ และควรบริโภคในรูปแบบไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ จะมีประมาณไขมันน้อยกว่า ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย ส่วนการปรุงอาหารควรใช้น้ำมันที่ไม่อิ่มตัว อาจกินเป็นสลัดไข่ ยำไข่ต้ม เพราะจะทำให้ได้สารจากไข่ และได้ไฟเบอร์และวิตามินซีจากผักและผลไม้ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ขนมปังไข่ดาวใส่เบคอนหรือ ไส้กรอก เพราจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอนน้ำมันที่ใช้ทอด และเนยที่ทาขนมปัง สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันที่ไม่สามารถทานอาหารโปรตีนอื่นได้ แนะนำให้กินไข่เป็นแหล่งของโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ และผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงในบางมื้ออาจหลีกเลี่ยงการกินไข่แดง นอกจากนี้ กรมอนามัย ได้จัดทำเมนูไข่สำหรับเด็กวัยเรียน เช่น ไข่ตุ๋น ไข่เจียว ไข่พะโล้ มะระผัดไข่ ไข่ลูกเขย ยำไข่ต้ม ไข่ยัดไส้ ยำไข่ดาว บัวลอยเผือกไข่หวานเพื่อส่งเสริมให้เด็กกินไข่ได้ทุกวัน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 
***
 
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 5 ตุลาคม 2561
กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH