กรมอนามัยจับมือเขตสุขภาพที่ 10 ขับเคลื่อนพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ลดท้องไม่พร้อม – ท้องซ้ำ

  • 12 พฤศจิกายน 2561
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์วิชาการและเขตสุขภาพที่ 10 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้และขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 : Smart Teen to Smart People เขตสุขภาพที่ 10 และลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วย “ความร่วมมือขับเคลื่อน พรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ลดปัญหาท้องไม่พร้อม และท้องซ้ำในวัยรุ่น
          วันนี้ (10 ตุลาคม 2561) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานีว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรวัยรุ่น โดยข้อมูลของประเทศไทยจากการสำรวจโดย world bank ปี พ.ศ. 2558 พบว่า มีอัตราการคลอดในวัยรุ่นเท่ากับ 44.6 ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 6 ของอาเซียน และในส่วนของเขตสุขภาพที่ 10 พบปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นค่อนข้างสูง เกือบร้อยละ 15 ซึ่งเกินค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 10
          “การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน ซึ่งการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้และขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 : Smart Teen to Smart People เขตสุขภาพที่ 10” ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง ๕ กระทรวงหลักประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ที่จะร่วมกันคุ้มครองและสนับสนุนให้ประชากรวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงสิทธิที่ตนพึงได้ ได้แก่ สิทธิในการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดและการคลอดที่ปลอดภัย สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการตัดสินใจ สิทธิในการได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และสิทธิการได้รับโอกาสด้านการศึกษาและอาชีพ ที่ส่งผลให้อัตราการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นลดลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ในอนาคต” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว   
          ทางด้านนายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯในครั้งนี้ กรมอนามัย โดย ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วย “ความร่วมมือขับเคลื่อน พรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10 และ ผู้บริหารจาก 5 กระทรวงหลัก โดยกำหนดประเด็นเป้าหมายการขับเคลื่อนที่ชัดเจน วัดผลได้ เพื่อให้ทุกกระทรวงมี ส่วนร่วมในการทำงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยใช้ “โมเดล Smart teen to Smart people R10” ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับเขตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มวัยรุ่นก่อนท้อง ต้องพัฒนาให้เป็นวัยรุ่นสดใสสุขภาพดีและมีทักษะชีวิตที่ดีไม่ท้องก่อนวัยอันควร 2) กลุ่มวัยรุ่นเมื่อประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม ต้องได้รับการดูแลตามสิทธิใน พ.ร.บ.จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 กระทรวงหลัก อาทิ ด้านสวัสดิการ การศึกษาต่อ และอื่นๆ 3) กลุ่มที่เคยท้องต้องไม่เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำ โดยได้รับการปรึกษาและวางแผนครอบครัวที่เหมาะสมจากระบบบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และ 4) กลุ่มแม่-เด็ก วัยรุ่นและครอบครัว ต้องได้รับการดูแลสวัสดิการที่เหมาะสม เช่น การจัดหาครอบครัวทดแทน การจัดหาที่พักฉุกเฉิน เป็นต้น มีการกำหนดการวัดผลสำเร็จในระยะสั้น 6 เดือน รวมไปถึงการกำหนด Overall Goal ที่ชัดเจนร่วมกัน เพื่อเป้าหมายคือวัยรุ่นสามารถเข้าถึงการบริการที่มีประสิทธิภาพได้รับการคุ้มครองสิทธิตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. ส่งผลให้อัตราการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการตั้งครรภ์ซ้ำลดลง
 
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 10 ตุลาคม 2561
กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH