แนะ ผู้ประกอบการร้านปิ้ง-ย่าง ทำความสะอาดตะแกรงหมูปิ้ง-กระทะปิ้งย่างถูกหลักสุขาภิบาล

  • 13 พฤศจิกายน 2561
   กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ผู้ประกอบการร้านปิ้ง-ย่าง ทำความสะอาดตะแกรงหมูปิ้งหรือกระทะปิ้งย่างให้ถูกหลักสุขาภิบาล ย้ำ ผู้บริโภค ควรเลือกร้านปิ้ง-ย่างที่มีป้าย Clean Food Good Taste เพื่อความมั่นใจด้านความปลอดภัย
           นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีประชาชนได้โพสต์ข้อความใน www.pantip.com เกี่ยวกับสาเหตุของอาการเจ็บคอสาเหตุจากการกินหมูปิ้งรถเข็น ซึ่งมีหนูจำนวนมากมาแทะกินเศษหมูที่ตะแกรงปิ้งหมูของรถเข็นหมูปิ้งในช่วงกลางคืน แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไม่ล้างตะแกรงหมูปิ้งให้สะอาดตามหลักสุขาภิบาล ก่อให้เกิดเชื้อโรคต่างๆ ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องล้างทำความสะอาดตะแกรงสำหรับใช้ปิ้ง-ย่างอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ ตามหลักสุขาภิบาลทุกวัน โดยการขูดเศษอาหารที่ติดกับตะแกรงออกก่อนแล้วล้างด้วยน้ำเปล่า และล้างด้วยน้ำผสมสารทำความสะอาดเพื่อล้างคราบไขมัน เศษอาหารและสิ่งสกปรกที่ ติดค้างอยู่โดยใช้ฟองน้ำ ผ้าสะอาด หรือแผ่นใยสังเคราะห์ช่วยในการทำความสะอาด แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีก 2 ครั้ง เพื่อล้างสารทำความสะอาดสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ยังติดค้างอยู่ออกให้หมด ส่วนภาชนะอุปกรณ์อื่นๆ ที่ล้างทำความสะอาดแล้วต้องนำมาคว่ำไว้บนตะแกรงหรือตะกร้า ซึ่งวางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร แล้วปล่อยให้แห้งเอง และต้องมีการจัดเก็บที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อน “ผู้บริโภคที่ชื่นชอบกินหมูกระทะ หมูปิ้ง ควรเลือกร้านที่ใช้ภาชนะอุปกรณ์ในการปิ้ง-ย่าง ที่สะอาดปลอดภัย คนขาย–คนเสิร์ฟ มีสุขอนามัยดีหรือเลือกร้านที่ได้รับป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ที่สำคัญควรกินอาหารให้หลากหลาย ทั้งผักและผลไม้เพื่อสุขภาพ
           ทั้งนี้ การกินอาหารปิ้ง-ย่าง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษ ผู้บริโภคควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ ไม่ติดมัน หรือตัดส่วนที่เป็นมันออก เพื่อลดปริมาณไขมันที่จะไปหยดลงบนถ่านขณะปิ้งย่าง เพราะไขมันหรือน้ำมันจะหยดลงบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ และก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) ลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร และพบในปริมาณมาก ถ้าปิ้ง ย่างจนไหม้เกรียม หากกินเป็นประจำ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง อาจใช้ใบตองห่ออาหารก็สามารถช่วยลดไขมันหยดได้เช่นเดียวกัน แถมได้อาหารที่มีกลิ่นหอมใบตองและลดปริมาณขยะอีกด้วย หากพบเห็นร้านที่ไม่สะอาด ไม่ใส่ใจในการเตรียมปรุงอาหารให้สะอาด มีคุณภาพ ควรหลีกเลี่ยงและแจ้งให้หน่วยงานราชการในพื้นที่ทราบ เช่น สำนักงานเขตในกทม. เทศบาล อบต. หรือช่องทางต่างๆที่หน่วยงานราชการจัดทำขึ้น สายด่วน 1111” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
 
 ***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 10 พฤศจิกายน 2561
กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH