ประเทศไทย ผนึกกำลังร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ช่วย WHO ลดเจ็บป่วย-ตายจากมลพิษอากาศ

  • 13 พฤศจิกายน 2561
 ประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับประเทศต่างๆ ลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศของประชาชนทั่วโลก ยกประเด็นมลพิษทางอากาศและสุขภาพเป็นวาระสำคัญระดับชาติ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573
      แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม First Global Conference on Air Pollution and Health โดยมีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2561 ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และระดมความคิดเห็นต่อมาตรการและกำหนดข้อตกลงเชิงนโยบายร่วมกัน ระหว่างประเทศสมาชิก องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานภาคี เพื่อเป้าหมายอากาศบริสุทธิ์และสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน ทั่วโลก โดยในการประชุมครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมพิธีเปิดการประชุม ทรงมีพระดำรัสถึงประเด็นมลพิษทางอากาศ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั่วโลกถึง 8 ล้านคนต่อปี และอาจส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งทั่วโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดี การเจ็บป่วยและเสียชีวิตเหล่านี้ สามารถหลีกเลี่ยงได้ และมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องกำหนดเป็นวาระสำคัญระดับโลกที่ทุกประเทศ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อการคุ้มครอง ดูแลสุขภาพประชาชนจากมลพิษทางอากาศ
     แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ประเด็นมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น 1 ใน 5 ประเด็นขับเคลื่อนที่สำคัญในปี 2019 – 2023 ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนนโยบายในระดับภูมิภาค ในฐานะประธานร่วมของคณะทำงานวิชาการด้านคุณภาพอากาศ ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อให้เกิดการคุ้มครอง ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ ในบรรยากาศ อาคารบ้านเรือน รวมไปถึงมลพิษข้ามพรมแดน ส่วนในระดับประเทศ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีนโยบายให้โรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัด ดำเนินงานโครงการ GREEN & CLEAN Hospital เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยได้ทำตามที่แสดงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นร่วมกับนานาชาติ เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
      “การประชุมในครั้งนี้ ประเทศไทยให้คำยืนยันว่าจะมุ่งมั่นดำเนินการเรื่องมลพิษทางอากาศและสุขภาพให้เป็นวาระสำคัญระดับชาติ เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศร้อยละ 25 ภายใน พ.ศ. 2573 โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้เกิดการจัดการคุณภาพอากาศที่ดี ลดมลพิษ มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายระบบ เฝ้าระวังติดตามคุณภาพอากาศและการสื่อสารเตือนภัยด้านสุขภาพแก่ประชาชน คำนึงถึงกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถภาคสาธารณสุขและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี พ.ศ. 2573” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
 
***
 ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 5 พฤศจิกายน 2561
กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH